1.1 ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
สืบเนื่องจากโรงเรียนเทศบาล ๒ บ้านสะเดา ได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนนำร่องโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในปีการศึกษา 2559 และเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2560 ทางโรงเรียนจึงได้จัดให้มีการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และทุกระดับชั้น ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2561 ในวิชาศิลปะหน่วยการเรียนรู้เรื่อง งานปั้นและงานสื่อผสมอย่างพอเพียง ครูได้มอบหมายให้นักเรียนรวมกลุ่มกันกลุ่มละ 3 คน ไปสำรวจหาเศษวัสดุธรรมชาติหรือเศษวัสดุเหลือใช้ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันมาสร้างสรรค์งานศิลปะ ด้วยการประดิษฐ์ชิ้นงานโดยใช้กระบวนการสะเต็มศึกษาตามความถนัดหรือความสนใจของแต่ละกลุ่ม และให้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาวิเคราะห์และนำไปใช้ในการทำงาน ผู้จัดทำจึงได้ออกสำรวจวัสดุเหลือใช้ทั้งในโรงเรียนและบริเวณรอบโรงเรียน โดยใช้เวลาในการสำรวจประมาณ 1 สัปดาห์ จึงได้พบว่าโรงงานไม้นันทะ ซึ่งอยู่หน้าโรงเรียนจะมีขี้เลื่อยที่เหลือจากการทำแผ่นไม้ส่งขายเป็นจำนวนมาก ซึ่งขี้เลื่อยที่พบจะมี 2 ลักษณะคือ ขี้เลื่อยแบบเศษไม้ซึ่งเกิดจากการตัดไม้ด้วยเลื่อยหรือเกิดจากการไสไม้ด้วยกบไสไม้กับขี้เลื่อยแบบผง ซึ่งเกิดจากการขัดไม้ด้วยกระดาษทรายหรือเครื่องขัด ผู้จัดทำสังเกตเห็นขี้เลื่อยแบบผงว่าเป็นวัสดุที่มีลักษณะคล้ายแป้ง เมื่อกองรวมกันแล้วนำขึ้นมาขยำกับมือจะเกาะตัวกันเป็นก้อนและมีสีคล้ายดินเหนียว ผู้จัดทำจึงขอตัวอย่างขี้เลื่อยจากร้านไม้นันทะไปให้ครูดูว่าสามารถนำมาทำงานประดิษฐ์ชิ้นงานด้วยการปั้นได้หรือไม่ ครูจึงให้ลองคิดดูว่าถ้าจะเอามาปั้น ขี้เลื่อยควรมีคุณลักษณะอย่างไร ผู้จัดทำจึงคิดได้ว่าถ้าจะนำมาปั้นต้องทำขี้เลื่อยให้มีลักษณะคล้ายดินเหนียวให้มากที่สุด จึงได้ไปศึกษาวิธีการผสมแป้งเวลาทำขนมจากผู้ปกครองว่าต้องผสมน้ำ แต่ปรากฏว่าขี้เลื่อยไม่เกาะตัวกัน ผู้จัดทำจึงได้สอบถามครูที่สอนวิทยาศาสตร์ว่าจะทำอย่างไรให้ขี้เลื่อยเหนียวจนสามารถปั้นได้ ครูบอกว่าให้ลองหาสารอะไรที่สามารถทำให้ขี้เลื่อยสามารถเกาะตัวกันได้ใส่ลงไปดู จึงทดลองเอามาผสมกับน้ำและกาวดูปรากฏว่าเนื้อขี้เลื่อยสามารถยึดติดกันเป็นก้อนและสามารถปั้นเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้
ทั้งนี้การปั้นเป็นการสร้างงานศิลปะประเภทงานประติมากรรมในหน่วยการเรียนรู้เรื่อง งานปั้นและงานสื่อผสมอย่างพอเพียง เป็นการนำวัสดุที่มีเนื้ออ่อน เช่น ดินเหนียว ดินน้ำมัน ปูน แป้ง ขี้ผึ้ง กระดาษ หรือขี้เลื่อยผสมกาว เป็นต้น มาผ่านกระบวนการเพิ่มหรือลดให้เป็นรูปทรงที่ต้องการด้วยมือและอุปกรณ์ในการสร้างงานปั้น ซึ่งการสร้างสรรค์งานปั้นสามารถใช้ทักษะทางด้านศิลปะได้หลากหลาย และสามารถบูรณาการกับศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหรือเอกลักษณ์ต่าง ๆ ของท้องถิ่นได้ รวมทั้งในการทำงานสามารถนำกระบวนการสะเต็มศึกษาเข้ามาใช้ได้ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ด้วยสะเต็มศึกษา ผู้จัดทำจึงเลือกทำโครงงานเรื่อง ประติมากรรมสร้างสรรค์มหัศจรรย์ขี้เลื่อย (Wonderer Sculpture from Woodust) เพื่อนำวัสดุเหลือใช้คือขี้เลื่อยมาสร้างงานประติมากรรมโดยใช้ความรู้ด้านศิลปะที่ได้เรียนไปมาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์ชิ้นงานที่สามารถเพิ่มคุณค่างานศิลปะสู่ประโยชน์ใช้สอย โดยได้ทดลองทำเป็นรูปร่างรูปทรงต่าง ๆ จนได้สัดส่วนของขี้เลื่อยที่เหมาะสมในการออกแบบชิ้นงาน และได้ตกลงกันที่จะพัฒนาชิ้นงานเป็นหน้ากากนายพราน เพื่อนำไปใช้บูรณาการภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้ร่วมกับสาระดนตรี-นาฏศิลป์ในการแสดงมโนราห์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมตามแนวคิดโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น
โรงเรียนเทศบาล ๒ บ้านสะเดาจึงได้อนุรักษ์สืบสานการแสดงมโนราห์ของภาคใต้ โดยจัดให้มีการฝึกซ้อมการรำมโนราห์ การบรรเลงดนตรีมโนราห์ และนำนักเรียนออกแสดงในงานต่าง ๆ ของชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยการแสดงนายพรานเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงมโนราห์ที่ทำให้การแสดงมีความครบถ้วนสมบูรณ์ตามองค์ประกอบของการแสดงมโนราห์ดั้งเดิม ผู้จัดทำจึงได้มุ่งพัฒนาชิ้นงานเป็นหน้ากากนายพราน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ที่สำคัญในการแสดงมโนราห์ และเพื่ออนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไว้สืบไป
โดยผู้จัดทำได้นำกระบวนการสะเต็มศึกษามาใช้ในโครงงานเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ มุ่งแก้ไขปัญหาที่พบเห็นในชีวิตจริง พร้อมที่จะไปปฏิบัติงานที่ต้องใช้องค์ความรู้และทักษะกระบวนการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีจะประโยชน์ต่อการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ควบคู่กับการอนุรักษ์และสืบสานไว้ซึ่งภูมิปัญญาของท้องถิ่นภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในด้านวัสดุที่นำมาใช้ กระบวนการทำงาน ตลอดจนชิ้นงานที่สามารถตอบสนองในเรื่องของแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และยังสามารถนำไปจัดจำหน่ายเป็นรายได้และสามารถพัฒนาสู่การประกอบอาชีพอย่างยั่งยื่นในลำดับต่อไปในอีกทางหนึ่ง
1.2 วัตถุประสงค์ของการศึกษาโครงงาน
1.2.1 เพื่อศึกษาวิธีการสร้างสรรค์งานประติมากรรมแบบลอยตัวจากวัสดุขี้เลื่อย ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบโครงงาน
1.3 ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. เศษวัสดุธรรมชาติ (ขี้เลื่อย) สามารถนำมาสร้างชิ้นงานและเพิ่มคุณค่าด้วยการสร้างสรรค์เป็นผลงานประติมากรรม และทำให้เกิดประโยชน์ด้านการใช้สอยได้
2. การสร้างงานประติมากรรมจากวัสดุขี้เลื่อย สามารถลดค่าใช้จ่ายของโรงเรียนและรายได้เพิ่มให้กับนักเรียน
3. การสร้างงานประติมากรรมช่วยให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการและมีสุนทรียทางด้านศิลปะมากขึ้น
4. กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานด้วยแนวคิดสะเต็มศึกษาช่วยให้สามารถพัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ เพื่อคิดค้นนวัตกรรมอื่น ๆ ชุมชนท้องถิ่นได้ต่อไป
5. การทำงานภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงช่วยให้สามารถคิดวิเคราะห์หาคำตอบ ในการทำงานที่เหมาะสมสอดคล้องไม่เสียเวลา ไม่เสียค่าใช้จ่าย และเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล รวมทั้งลดความเครียดและมีความสุขในการทำงาน
1.4 ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้า
โครงงานเรื่อง ประติมากรรมสร้างสรรค์มหัศจรรย์ขี้เลื่อย (Wonderer Sculpture from Woodust) เป็นการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับขั้นตอนการสร้างสรรค์งานประติมากรรมแบบลอยตัวโดยใช้วิธีการประกอบขึ้นรูปและการปั้นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนเทศบาล ๒ บ้านสะเดา เพื่อพัฒนาชิ้นงานหน้ากากนายพรานตามหลักการสร้างสรรค์ประติมากรรม 6 ประการ ได้แก่ โครงสร้าง เส้น รูปทรง ขนาดและสัดส่วน สี และพื้นผิว
โดยได้ดำเนินการศึกษา ณ โรงเรียนเทศบาล ๒ บ้านสะเดา ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 ถึง 17 มีนาคม 2562 เป็นระยะเวลา 43 วัน
1.5 นิยามศัพท์เฉพาะ
ประติมากรรม หมายถึง ผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการปั้น แกะสลัก หล่อ และการจัดองค์ประกอบความงามอื่น ลงบนสื่อต่าง ๆ เช่น ไม้ หิน โลหะ สัมฤทธิ์ ฯลฯ เพื่อให้เกิดรูปทรง 3 มิติ มีความลึกหรือนูนหนา สามารถสื่อถึงสิ่งต่าง ๆ สภาพสังคม วัฒนธรรม รวมถึงจิตใจของมนุษย์
การสร้างสรรค์ หมายถึงการสร้างสิ่งใหม่ๆที่มีคุณค่า โดยสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นอาจมีการอ้างถึงบุคคลผู้สร้างสรรค์ หรือสังคมหรือขอบเขตภายในที่ได้สร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ขึ้นมา ซึ่งการวัดคุณค่าดังกล่าวอาจใช้ได้หลายวิธี
หลักการสร้างสรรค์ประติมากรรม หมายถึง การสร้างงานประติมากรรมแบบลอยตัวโดยวิธีการประกอบขึ้นรูปด้วยหลัก 6 ประการคือ 1.โครงสร้าง เปรียบได้กับแกนอันเป็นส่วนสำคัญ 2.เส้น เป็นทัศนธาตุเบื้องต้นที่สำคัญที่สุด เป็นพื้นฐานของโครงสร้างของทุกสิ่งในจักรวาล 3.รูปทรง เป็นสิ่งที่เกิดจากการประกอบกันของเส้นแต่ละประเภท 4. ขนาดและสัดส่วน สัดส่วนเป็นกฎของเอกภาพอันหนึ่ง เกี่ยวข้องกับความสมส่วนซึ่งกันและกันของขนาดในส่วนต่าง ๆ ของรูปทรง 5.สี ในงานประติมากรรมจะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ สีที่เกิดจากตัววัสดุ และสีที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ 6. พื้นผิว หมายถึง ผิวของสิ่งต่าง ๆ เมื่อสัมผัสแล้วจะรู้สึกได้ว่าหยาบ ละเอียด มัน ด้านขรุขระ เรียบเกลี้ยง เป็นต้น
ขี้เลื่อย หมายถึง ผงไม้ที่เกิดจากการตัดไม้ด้วยเลื่อยหรือเกิดจากการไสไม้ด้วยกบไสไม้ หรือขัดไม้ด้วยกระดาษทรายหรือเครื่องขัด
หน้ากากหน้าพราน หมายถึง หน้ากากสำหรับตัว "พราน" ซึ่งเป็นตัวตลก ใช้ไม้แกะเป็นรูปใบหน้า ไม่มีส่วนที่เป็นคาง ทำจมูกยื่นยาว ปลายจมูกงุ้มเล็กน้อย เจาะรูตรงส่วนที่เป็นตาดำ ให้ผู้สวมมองเห็นได้ถนัด ทาสีแดงทั้งหมด เว้นแต่ส่วนที่เป็นฟันทำด้วยโลหะสีขาว หรือทาสีขาว มีเฉพาะฟันบน ส่วนบนต่อจากหน้าผากใช้ขนเป็ดหรือห่านสีขาวติดทาบไว้ต่างผมหงอก